ทักษะ “4C” Soft Skills สำคัญที่ยุคนี้ไม่มีไม่ได้แล้ว

Soft Skills กับ Hard Skills ต่างกันอย่างไร

Hard Skills คือทักษะที่สามารถฝึกฝน เรียนรู้ได้จากการเรียนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการฝึกอบรมอื่น ๆ เป็นความสามารถที่เราจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน เช่น ความรู้ด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ความรู้ด้านภาษา ความรู้ด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และความรู้ด้านสายวิชาชีพเฉพาะต่าง ๆ

ส่วน Soft Skills นั้นแตกต่างออกไปตรงที่ เป็นทักษะทางพฤติกรรมหรือบุคลิกลักษณะที่ข้องเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ถึงแม้ว่า Soft Skills นั้นจะไม่ใช่หลักเกณฑ์สำคัญที่สุดในการวัดทักษะเมื่อต้องใช้สำหรับการสอบในสนามการเรียน การสมัครงาน หรือแข่งขันความสามารถทางวิชาชีพกับผู้อื่น แต่ปัจจุบัน Soft Skills กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและเพิ่มความสำเร็จให้กับเส้นทางการทำงาน และการดำรงชีวิตมากขึ้น ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในยุคของดิจิทัลที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายเพื่อมาสนับสนุนให้การสื่อสารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ทั้งที่มีปัจจัยเอื้อต่อการสื่อสารมากขึ้น ทำไมผลลัพธ์ของการสื่อสารกลับยากและสับสนขึ้น นั่นก็เพราะเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้การสื่อสารสมบูรณ์ Soft Skill จึงถือว่าเป็นทักษะที่ไม่ควรมองข้าม และการที่จะได้มาซึ่งทักษะ Soft Skill นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนเรียนรู้จากประสบการณ์และสถานการณ์รอบตัวอยู่ตลอด

สมมติว่าเรากำลังเทียบคนทำงานเก่ง 2 คนที่มีทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใกล้เคียงกัน จบการศึกษาจากคณะเดียวกัน แต่คนหนึ่งไม่มีทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเลย เป็นคนที่อธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้เข้าใจยาก ใช้คำพูดที่ตัวเองฟังแล้วรู้เรื่องคนเดียว (อาจเป็นคำศัพท์ทางเทคนิค) กับอีกคนที่สามารถใช้วิธีการพูดที่ฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย รู้ว่าเมื่อไหร่ควรสื่อสารออกมาแบบไหน หรือสื่อสารด้วยวิธีใดจึงจะได้ผล สามารถอธิบายคำยาก ๆ ให้ผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ทางเทคนิคสามารถเข้าใจได้ คุณคิดว่าภาพรวมของการทำงานร่วมกัน ใครจะสามารถจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่า?

ดังนั้นการทำงานในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงทักษะด้าน Hard Skills เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีทักษะ Soft Skills ควบคู่ไปด้วยเพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การทำงานทั้งในวัยทำงาน หรือการทำงานกลุ่มในวัยเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความหมายของ 4C

ในบทความนี้เราจะพูดถึง Soft Skills ที่เรียกว่า “4C” (โฟร์ซี) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วย

1. Communication - การสื่อสาร

ในโลกที่การสื่อสารไม่ได้จำกัดเพียงการพูดคุยด้วยเสียง แต่ยังรวมไปถึงการใช้ตัวอักษรในการสื่อสาร ไม่ว่าจะผ่านทางอีเมลอย่างเป็นทางการ ผ่านไลน์ ผ่านข้อความ SMS หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แน่นอนว่าตัวอักษรนั้นไม่มีเสียง เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าข้อความที่เราพิมพ์ไปด้วยอารมณ์แบบหนึ่งนั้น ผู้อ่านจะอ่านด้วยอารมณ์แบบเดียวกันหรือไม่ ดังนั้นการมีทักษะในการเลือกคำ เลือกประโยคที่เหมาะสมจะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในการสื่อสารได้มากขึ้น ทั้งเรื่องความผิดพลาดของข้อมูล และการผิดใจกันด้านอารมณ์

หรือแม้แต่การสื่อสารด้วยการพูด ก็มีหลากหลายวิธี การเลือกใช้คำและระดับภาษาก็สำคัญ การสื่อสารระหว่างเพื่อนกับเพื่อน การสื่อสารในที่ประชุมกลุ่มเล็กภายในห้องเล็ก ๆ ไปจนถึงการสื่อสารกับกลุ่มคนจำนวนมากในห้องโถงใหญ่ หรือแม้แต่การสื่อสารผ่าน VDO Conference ปัญหาด้านการสื่อสารอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับมือได้

ผู้ที่มีทักษะ มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ทันท่วงที สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการสื่อสารได้ ถึงแม้จะมีข้อผิดพลาดก็สามารถที่จะนำพาสถานการณ์ให้ผ่านไปได้ด้วยดีในท้ายที่สุด

2. Collaboration - การทำงานร่วมกัน

ทักษะการทำงานร่วมกันนั้น เป็นทักษะที่เรียกได้ว่ามัดรวมเอาหลากหลายทักษะมาผสมเอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร การบริหารจัดการแผนงาน ความฉลาดทางอารมณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะการทำงานร่วมกันนั้นจำเป็นต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการปรับตัว ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์และผู้คนว่าเมื่อไหร่ควรพูดแบบใด ควรเข้าหาผู้คนที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกันอย่างไร เมื่อไหร่ควรประนีประนอม เมื่อไหร่ที่ต้องเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์

3. Critical Thinking - การคิดเชิงวิพากษ์

คำว่า “วิพากษ์” นั้นแปลว่า การพิจารณา ดังนั้นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จึงหมายถึงการคิดในลักษณะของการวิเคราะห์โดยไม่คล้อยตามไปกับข้ออ้างที่ถูกนำเสนอ แต่พิจารณาจากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งทักษะนี้ถึงแม้จะเป็น Soft Skill แต่ก็เป็นทักษะที่จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝน ด้วยการฝึกตั้งคำถาม ฝึกการสังเกต การมองเหตุการณ์เดียวกันในมุมมองที่หลากหลาย สามารถที่จะประยุกต์วิธีการแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้ ซึ่งทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้ยังสามารถต่อยอดไปยังทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย เพราะผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนในการคิด และมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในมุมที่แตกต่างกันออกไป

4. Creativity - ความคิดสร้างสรรค์

ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์มักถูกเข้าใจว่าจะสามารถค้นพบได้ในผู้ที่มีพรสวรรค์มาแต่กำเนิดเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นสามารถสร้างขึ้นได้จากการฝึกฝน และความหมายของทักษะ Creativity ในบริบทของ 4C นั้นไม่ได้หมายถึงความสามารถด้านศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความคิดสร้างสรรค์ในการคิดนอกกรอบ การหลุดออกจากขอบเขตความคิดแบบดั้งเดิม การต่อยอดไอเดียเดิมให้กลายเป็นสิ่งใหม่ เปลี่ยนจินตนาการให้เป็นรูปธรรม เช่น การเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมาก ๆ ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของอินโฟกราฟิก กราฟ สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างสร้างสรรค์

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามี Soft Skills ด้านนี้

ปกติแล้วทักษะด้าน Soft Skills นั้นเป็นทักษะที่วัดผลได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นทักษะที่เน้นเรื่องบุคลิกภาพ แล้วความคิดของแต่ละคน แต่ Certiport ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับลิขสิทธิ์การสอบจากเจ้าของซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลก ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านไอทีตามมาตรฐานสากล สามารถวัดทักษะด้านการสื่อสารอย่างมืออาชีพด้วยใบประกาศที่มีชื่อว่า Communication Skill for Business หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CSB ซึ่งได้รับการค้นคว้าและออกแบบชุดคำถามจากผู้เชี่ยวชาญ

ใบประกาศ Communication Skill for Business คืออะไร

คือ ประกาศนียบัตรที่ช่วยประเมิน ทักษะการสื่อสารเพื่อการธุรกิจ (CSB) ภายใต้หลักการประเมินทักษะสำคัญของการสื่อสาร ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) – ผ่านกระบวนการ หรือวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกัน (Collaboration) – การสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) – จะต้องมีวิธีการนำเสนอการสื่อสารที่ดี ทำให้การสื่อสารนั้นน่าสนใจ ภายใต้การสอบลักษณะการสอบเป็นแบบคำถาม-คำตอบ โดยให้ระยะเวลาในการทำ 50 นาที จำนวนข้อสอบ 35-50 ข้อ เกณฑ์การผ่านอยู่ที่ 700 คะแนน จากคะแนนเต็มทั้งหมด 1000 คะแนน

การสอบ CSB ครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง

1. หลักการสื่อสารขั้นพื้นฐาน

สามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมแบบใดเป็นการสื่อสารแบบมืออาชีพ และไม่เป็นมืออาชีพ การมีการใช้โซเชียลมีเดียที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อความ รวมไปถึงพื้นฐานการสื่อสารด้านวาจาและท่าทาง เช่น การสบตาผู้ฟังหรือผู้พูด การใช้น้ำเสียง ระดับเสียงในการพูด การสื่อสารด้วยข้อความ การไม่ด่วนตัดสินใจทันทีที่ได้รับข้อความสื่อสาร

2. การวางแผนเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

การวางแผนและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสารที่มีต่อผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็น อายุ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ สถานภาพด้านการสมรส และผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในการสื่อสาร เช่น ขนาดของห้องที่ใช้ในการสื่อสาร จำนวนผู้เข้าร่วม อุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลในรูปแบบโน้มน้าวใจ สร้างแรงบันดาลใจ มีความรู้เรื่องความสำคัญของการรักษาความลับ ลิขสิทธิ์ การใช้เครื่องหมายการค้าต่าง ๆ

3. การใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีในการสร้างการสื่อสารทางธุรกิจ

การเลือกวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทางธุรกิจ เช่น การสนทนาแบบเห็นหน้า การสนทนาผ่านโทรศัพท์ การสื่อสารผ่านข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรเช่น กฎหมายธุรกิจ รายงานการประชุม การใช้ภาพและการออกแบบ Data Visualization เพื่อสื่อสารข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นด้วย กราฟ แผนภูมิ และ อินโฟกราฟิก

4. การส่งสาร

สามารถอธิบายตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการส่งสารที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งในที่นี้รวมถึงการนำเสนอส่วนตัว เช่น การแต่งกายและสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม ตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ ที่ตั้ง พื้นที่ทางกายภาพ เทคโนโลยี ความเป็นทางการ และประเด็นต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของความผันแปรของภาษาในภูมิภาค ภาษาที่คลุมเครือ ภาษาเฉพาะกลุ่ม บริบท และ การรับรู้

5. การรับสาร

สามารถทบทวนประเด็นสำคัญของข้อความจากการสื่อสารทางธุรกิจ สามารถระบุเป้าหมายหลักของการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงได้ไม่ว่าจะเป็นการสรุปข้อความด้วยวาจา หรือเป็นสรุปลายลักษณ์อักษร รวมถึงความสามารถในการตอบกลับข้อความและชี้แจงได้อย่างเหมาะสม

6. การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการสื่อสาร

ในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ๆ ด้วยกัน คือ เรื่องปัจจัยของการได้งานทำ ได้แก่การระบุข้อผิดพลาดทั่วไปที่กระทำโดยผู้สัมภาษณ์และผู้สมัคร สามารถแยกแยะเอกสารสมัครงานที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมได้ การวิเคราะห์เรื่องการแสดงออกและการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะ การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ การวิเคราะห์เกี่ยวกับมารยาทในการสื่อสารระดับธุรกิจ การระบุปัญหา วิธีการแก้ไข การทบทวนปัญหาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในทีม หรือเกิดปัญหาขึ้นกับลูกค้า

ต้องการทดสอบมาตรฐานความรู้ทำอย่างไร

สามารถสอบผ่าน ARIT ซึ่งเป็นศูนย์สอบอย่างเป็นทางการของ Certiport โดยลงทะเบียนการสอบได้ที่ Register หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-610-3095 , 02-610-3097

Previous Postย้อนสถิติ 5 ปี การมีการใช้ ICT ในสถานประกอบการ ส่งผลอย่างไรกับการพัฒนาองค์กร
Next Postเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้บริหาร Next Gen ด้วย PMI Project Management Ready