ทำไมสาย IT ต้องมี Cert.

“Cert. คืออะไร” “ทำไมต้องสอบ Cert.” “ไม่มี Cert. แล้วทำงานไม่ได้เหรอ” คำถามยอดฮิตที่ชาวไอทีหน้าใหม่มักจะเกิดคำถามในใจบ่อย คำตอบของคำถามนั้นไม่ตายตัว คงต้องบอกว่าการจะตัดสินว่าใครสักคนหนึ่งควรมี Cert. หรือไม่จำเป็นต้องมีนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานของแต่ละบุคคล

เป็นที่รู้กันดีว่าสายไอทีนั้นมีใบประกาศนียบัตรรับรองความรู้เฉพาะทางที่ชาวไอทีมักจะสอบเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าตนเองมีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งใบประกาศนียบัตรไอทีส่วนมากมักจะได้รับการออกแบบข้อสอบโดยอ้างอิงค่ายของอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้งาน ตัวอย่างเข่น Amazon Web Services (AWS), Cisco Certified, Microsoft Certified Fundamentals (MCF), Information Technology Specialist (ITS) หรือใบประกาศที่เน้นพื้นฐานความรู้แบบไม่อิงค่ายใดอย่าง CompTIA

ประโยชน์ของการมี IT Certificate

โดดเด่นเข้าตา HR

สำหรับผู้ที่กำลังมองหางานโดยเฉพาะนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน หรือคนที่อยากจะเปลี่ยนสายเข้ามาทำงานไอที การมี IT Certificate จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่แสดงให้เห็นว่าคุณนั้นมีความรู้พื้นฐานพอที่จะรับเข้าทำงาน พร้อมสำหรับการเรียนรู้การทำงานในขั้นต่อไปโดยไม่ต้องเริ่มต้นปูพื้นฐานความรู้กันใหม่ ซึ่งบางองค์กรที่ต้องการคนทำงานเฉพาะทาง ในส่วนของ คุณสมบัติที่ต้องการ (Qualification) ก็อาจระบุใบเซอร์ที่จำเป็นต้องมีก่อนสมัครเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น เป็นส่วนสำคัญในการคัดกรองคนสำหรับ HR และคัดกรองงานสำหรับผู้สมัครเองด้วยว่าตรงกับสิ่งที่ต้องการทำหรือไม่

เพิ่มโอกาสในการรักษาตำแหน่งงานไว้ หากบริษัทมีการปรับเปลี่ยนผังองค์กร

เมื่อสภาพเศรษฐกิจผันผวน ธุรกิจย่อมต้องหาวิธีลดต้นทุน ซึ่งหนึ่งในกระบวนการนั้นอาจหมายรวมถึงการลดต้นทุนด้านกำลังคนด้วย ถามว่า Certificate จะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไร คำตอบคือหากต้องมีการตัดสินใจคัดเลือกคนที่ต้องอยู่และต้องไป การที่คุณมี Cert. (ที่อัปเดต) นั่นอาจแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้ ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สามารถสนับสนุนให้ผู้ว่าจ้างตัดสินใจได้

Certificate ช่วยให้การขึ้นเงินเดือนเป็นเรื่องง่ายขึ้น

หากต้องการขยับตัวเองให้ไปอยู่ในระดับสูงขึ้นของสายงานเพื่อรับค่าตอบแทนที่มากขึ้น การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มพูนทักษะของตัวเองให้สูงขึ้นและเป็นความรู้ที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอคือสิ่งสำคัญในการพิจารณาเพื่อให้ได้รับโอกาส ซึ่ง Certificate เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้ผู้บริหารมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่าคุณนั้นทุ่มเทและจริงจังกับอาชีพของตนเอง ขวนขวายในการเลือกลงทุนกับความรู้ ปรับปรุงความสามารถของตนเองอยู่ตลอดเวลา พัฒนาควบคู่ไปกับประสบการณ์ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น การมีทั้งสองสิ่งจะยิ่งช่วยยืนยันความสามารถของคุณว่าเหมาะสมกับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ นอกจากนี้บริษัทหลายแห่งก็มีนโยบายในการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานที่มีใบรับรองตามสาขาที่จำเป็นต้องมีด้วย

การได้รับใบรับรองเฉพาะทางหลาย ๆ ระดับภายใต้ Vendor นั้น ๆ

ช่วยทำให้เกิดความน่าเชื่อถือว่าคุณนั้นเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจโครงสร้างการทำงาน และสามารถปฏิบัติงาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้อย่างไม่มีปัญหา ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทของคุณใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Cisco ก็ควรเลือกทดสอบใบรับรองความรู้การใช้งาน Cisco Certified หากเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้กลุ่ม Microsoft ก็เลือกทดสอบใบรับรอง Microsoft Certified หรือต่อให้ไม่มีการอ้างอิงผลิตภัณฑ์ใดเป็นพิเศษ ก็สามารถเลือกทดสอบใบรับรองจาก CompTIA หรือเลือกทดสอบความรู้ตามสายงานได้ (อ่านเพิ่มเติม : 9 Certificate ที่สายซับฯ ควรมีไว้อัปเกรดเป็น Super IT Support)

บริษัทพาร์ทเนอร์มักต้องการ Certificate เป็นเครื่องยืนยันการให้คำปรึกษาและบริการ

อาจกล่าวได้ว่าทุกธุรกิจล้วนต้องการบุคลากรด้านไอทีที่จะมาทำหน้าที่ดูแลระบบต่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะจ้างพนักงานด้านไอทีเป็นของตัวเองทั้งหมด โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กหรือกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ดังนั้นจึงมีบริษัทที่เลือกใช้ที่ปรึกษาจากภายนอก (Consults) เข้ามาดูแลให้บริการ แล้วสิ่งใดล่ะที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าที่ปรึกษานั้นมีประสิทธิภาพในการเข้ามาช่วยดูแลระบบงาน คำตอบจึงหนีไม่พ้นการต้องมีเครื่องการันตีความรู้เฉพาะด้าน ดังนั้น IT Certificate จึงเข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยยืนยันว่าผู้ที่ให้คำปรึกษาและช่วยดูแลระบบงานนั้นมีความรู้ความสามารถในการจัดการด้านนั้นจริง ๆ หลายบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาจึงจำเป็นต้องให้พนักงานของตนเองนั้นมีใบรับรองความรู้ไอทีตามผลิตภัณฑ์ที่บริษัทให้บริการ

Certificate มีส่วนช่วยให้ได้อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

เป็นที่รู้กันดีในวงการสอบ Cert. ไอทีว่าใบรับรองส่วนมากนั้น “มีวันหมดอายุ” สาเหตุก็มาจากการที่เทคโนโลยีนั้นอัปเดตอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวไอทีควรต้องศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เรียนรู้และทำความเข้าใจกับมันอยู่เสมอ ใบรับรองจาก Vendor ต่าง ๆ จึงมีการกำหนดอายุการใช้งานสอดคล้องไปกับการพัฒนาเวอร์ชันใหม่ ๆ ของใบประกาศ เพราะหากไม่กำหนดช่วงเวลาที่ควรอัปเดตความรู้ใหม่แล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดการตกเทรนด์เทคโนโลยีขึ้นได้ เช่น ผู้สอบที่ได้รับ Certificate ในปี 2017 เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี เกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ผลักดันให้มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมากมาย หรือเร่งให้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความรู้เดิมที่เคยใช้ทดสอบใบรับรองจึงอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ผลิตภัณฑ์หรือระบบบางอย่างที่เคยใช้อาจถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว การสอบ Certificate ที่อัปเดต หรือการต่ออายุ Certificate จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ได้ทำความเข้าใจความรู้ใหม่ เพราะทาง Vendor หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์เองก็ย่อมจะอัปเดตข้อสอบของตนเองให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาเทคโนโลยีมาใหม่เสมอ

ถ้าไม่มี Cert. ควรมีอะไร

หัวใจหลักของการทำงานคือความรู้เสริมด้วยประสบการณ์ ในสายงานบางสายหรือองค์กรบางแห่งอาจไม่มีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ที่มีประกาศนียบัตรรับรอง จึงไม่แปลกที่จะมีกลุ่มคนที่มองว่าการมี Cert. นั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่เมื่อไม่มี Certificate ที่ระบุให้เป็นรูปธรรมว่าเรามีความรู้ความสามารถในระดับไหน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ก้าวหน้าในสายงานก็ต้องอาศัยสิ่งต่อไปนี้

สั่งสมประสบการณ์ ฝึกปฏิบัติจริง

การลงสนามคือสิ่งที่จะวัดความสามารถได้อย่างแท้จริง เพราะนอกจากความรู้ตามตำราที่เรียนมาแล้ว สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดก็อาจเกิดขึ้นเมื่ออยู่หน้างาน ระยะเวลาที่กระชั้นชิดมีส่วนผลักดันให้ต้องเร่งหาวิธีแก้ไข ต้องคิดเร็ว แก้ไขได้ ดังนั้นประสบการณ์ในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้คุณนั้นเจนสนาม พอพูดแบบนี้แล้ว น้อง ๆ ที่เพิ่งเรียนจบ หรือชาวไอทีที่ประสบการณ์ยังน้อยก็อาจจะรู้สึกท้อใจว่าจะให้ไปหาประสบการณ์โชกโชนมาจากไหน

จริง ๆ แล้ว “การปฏิบัติ” สำหรับสายไอทีบางสาย อาจไม่จำเป็นต้องลงสนามจริงเสมอไป เพราะมีสนามจำลองให้ทดลองปฏิบัติงานได้เรื่อย ๆ ในส่วนนี้ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เหมือนกับการเจอปัญหาจริงมากนัก เพราะไม่มีเรื่องระยะเวลากดดัน แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ได้ฝึกฝนประสบการณ์ นอกเหนือจากการอ่านเพียงแค่ตำรา และข้อดีของการฝึกฝนแบบนี้คือยังไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย

ไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่

มีคำกล่าวว่า “ความรู้คือพลัง” (Francis Bacon, Meditationes Sacrae (1597)) พลังที่จะขับเคลื่อนอนาคตทั้งของตนเอง และอนาคตขององค์กร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องไม่หยุดเรียนรู้ แม้ในอดีตความรู้เรื่องเทคโนโลยีนั้นอาจค่อยเป็นค่อยไป สามารถรั้งรอการเรียนรู้ได้ แต่ในปัจจุบัน โลกหมุนไปไวขึ้น และเทคโนโลยีก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว หากไม่หมั่นศึกษาและอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ สุดท้ายแล้วเราอาจตกขบวน ก้าวไม่ทันโลก และเสียเปรียบคนอื่นได้

มองปัญหาให้เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองคือทัศนคติที่ดี จริงอยู่ที่การพบเจอกับปัญหาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนัก แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเผชิญหน้าและแก้ไขมัน การค่อย ๆ คิดอย่างเป็นระบบ มองให้รอบด้าน หาวิธีการจัดการและลงมือแก้ไขอย่างรอบคอบคือสิ่งที่จะทำให้เราได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น และมีมุมมองในการมองเห็นหนทางใหม่ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

จากข้อมูลทั้งหมดที่เรากล่าวไป ขอสรุปเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าสมควรจะมี Cert. หรือไม่จำเป็นต้องมี Cert. ไว้ดังนี้

คนที่ว่างงานและต้องการหางานใหม่

หากคุณเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงาน เป็นคนที่เปลี่ยนสายงานใหม่ หรือเป็นคนที่ต้องการเข้าทำงานในบริษัทที่ประกาศคุณสมบัติไว้ชัดเจน การสอบ Certificate จึงตอบโจทย์ที่สุดในการพาตัวเองเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกของการคัดคนเข้าทำงาน เพราะถ้า HR ร้องขอคุณสมบัติเอาไว้ตั้งแต่แรก แล้วเราไม่มีติดตัวไว้ ก็คงไม่สามารถไปยังขั้นตอนต่อไปได้แน่นอน

บริษัทเสนอค่าตอบแทนพิเศษให้หากมี Cert.

ในข้อนี้ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าทุกคนจะต้องมี Certificate แต่เป็นการ Offer ข้อเสนอพิเศษให้กับพนักงานที่มีความสามารถและความสามารถนั้นก็เอื้อประโยชน์ให้แก่องค์กร หากบริษัทของคุณมีข้อเสนอพิเศษแบบนี้อยู่ คำแนะนำของเราคืออย่ารอช้าที่จะสอบ เพราะนี่คือผลประโยชน์จากการมี Certificate ที่จับต้องได้โดยตรง

คนที่ต้องการอัปเกรดโปรไฟล์ของตัวเอง

ตัวช่วยการตัดสินใจข้อสุดท้าย ผลตอบแทนอาจไม่ได้อยู่ในรูปของสิ่งที่จับต้องได้อย่างตำแหน่ง หรือการเพิ่มเงินเดือน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และความต้องการที่จะเสริมคุณสมบัติด้านการทำงานให้กับตัวเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า “ใครอยากสอบ... สอบ ใครยังไม่พร้อมสอบก็เพิ่มความรู้ด้วยวิธีอื่นไปก่อน”

หวังว่าบทความนี้จะพอช่วยให้มองเห็นประโยชน์ของ IT Certificate และช่วยตัดสินใจสำหรับใครที่กำลังลังเลอยู่ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ Certificate และการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับไอทีตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามหรือรับคำแนะนำจากเราได้ที่ 02-610-3095 หรือทุกช่องทางการติดต่อของบริษัท เออาร์ไอที จำกัด (ARIT)

ข้อมูลอ้างอิง :
Previous Postแนะนำเครื่องมือสร้าง Visual Content (2D 3D AR VR)
Next Postทำความรู้จัก Cert. ใหม่แห่งวงการไอที (ITS : IT Specialist)