อัปเดตแนวคิดเทคโนโลยีที่ยังคงมาแรงปี 2022

ช่วงปีที่ผ่านมานั้นโลกยังเผชิญกับสภาวะการหยุดชะงักของหลาย ๆ กิจกรรมที่มีผลมาจากการระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด 19 (COVID-19) แต่ภายใต้แรงกดดัน และปัญหาเหล่านั้นกลับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้มนุษย์ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโรคระบาดเป็นอุปสรรคต่อการพบปะ การใช้ชีวิต และการทำงาน ทำให้เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามามีบทบาท และมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากรายงานของ Gartner บริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลก เห็นได้ว่าเทรนด์เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนา และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในปี 2022 นั้นอาจไม่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมาสักเท่าไหร่ แต่เป็นการพัฒนาให้เห็นภาพชัด และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

Data Fabric

Data Fabric หรือผืนข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งรวบรวมแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จากทั้งบนแพลตฟอร์มการทำงาน และจากผู้ใช้งาน ร้อยเรียงออกมาให้พร้อมสำหรับการใช้งานไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ยิ่งผู้ใช้งานมีอิสระในการเข้าถึงดิจิทัลมากขึ้น จำนวนข้อมูลดิจิทัลก็มากตามไปด้วยเช่นกัน Data Fabric นั้นคือเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์และเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ออกมา เพื่อให้คำแนะนำว่าเมื่อไหร่ควรใช้ดาต้าไหน หรือเมื่อไหร่ควรเปลี่ยนแปลงข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยลดการจัดการข้อมูลโดยมนุษย์ได้มากถึง 70%

Cybersecurity Mesh

แนวคิดด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมความปลอดภัยทาง Cybersecurity แห่งอนาคต ด้วยแนวคิดแบบการกระจายศูนย์ (distributed) รองรับการขยายตัว (scalable) ได้อย่างยืดหยุ่น (flexible) และมีความน่าเชื่อถือ (reliable) โดยสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินทรัพย์หรือข้อมูล Asset ที่ดูแลอยู่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งระบบจะสร้างขอบเขตความปลอดภัยให้เล็กลงเฉพาะรอบ ๆ อุปกรณ์นั้น ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถบริหารจัดการความปลอดภัยได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะอยู่บน Cloud หรือ Non-Cloud

Cloud-Native Platforms

Cloud-Native Platforms เกิดมา เพื่อต่อยอดจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือการจัดการระบบปฏิบัติการแบบเดิมที่เป็นการย้ายระบบจากรูปแบบ On Premise ไปสู่ Cloud Platforms ซึ่งการย้ายในลักษณะนี้ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถของระบบ Cloud ได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงการบำรุงรักษานั้นยังมีความซับซ้อนอยู่ Cloud-Native Platforms จึงได้รับการพัฒนามา เพื่อให้ตอบโจทย์ความว่องไวของเทคโนโลยี เพื่อให้การทำงานบนคลาวด์นั้นง่ายดาย ยืดหยุ่น และรวดเร็ว สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างสถาปัตยกรรมของแอปพลิเคชันได้ตามความต้องการ และความเหมาะสมของขนาดธุรกิจ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

DI (Decision Intelligence)

เราคงเคยได้ยินคำว่าเทคโนโลยี AI กันมามากแล้ว แต่เทรนด์ใหม่ที่คาดการณ์กันว่าจะมาแรงในอนาคต คือเทคโนโลยี DI ซึ่งย่อมาจากคำว่า Decision Intelligence แปลความหมายโดยตรงก็คือ “การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด” ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการออกแบบ และพัฒนามาจากรูปแบบของ AI ที่ทำงานตามคำสั่งให้สามารถอัปเกรดความสามารถในด้านการตัดสินใจ ลักษณะการทำงานของ DI นั้นจะมาจากการศึกษาสถานการณ์ทีเกิดขึ้นรูปแบบต่าง ๆ (Models) เพื่อสร้างชุดระบบการตัดสินใจ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและเรียนรู้จากการตัดสินใจครั้งก่อน ๆ ซึ่งเทคโนโลยี DI นี้จะเข้ามาช่วยเรื่องการตัดสินใจให้กับมนุษย์ หรืออาจจะสามารถพัฒนาเป็นระบบตัดสินใจอัตโนมัติได้ผ่านการทำงานร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูล ภาพจำลอง และ AI ได้

ปัจจุบันองค์กรผู้ให้บริการเครือข่ายชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกอย่าง Mastercard ได้เริ่มนำ DI เข้ามาใช้กับการทำธุรกรรมการเงินผ่านบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด โดยโซลูชัน DI จะเรียนรู้และศึกษารูปแบบพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของแต่ละบัญชี เพื่อประเมินว่ามีพฤติกรรมใดที่แปลกหรือแตกต่างออกไปซึ่งจะช่วยในการตรวจจับความผิดปกติของการทำธุรกรรมได้

Distributed enterprises

Distributed enterprises หมายถึงการที่องค์กรกระจายการทำงานออกไปโดยไม่ยึดติดแค่เพียงการทำงานในสำนักงานเท่านั้น โดยใช้แนวคิด Digital-First, Remote First เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานของพนักงานให้สามารถทำงานได้จากทุกแห่ง โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เป็นตัวช่วย (หรือก็คือการทำงานแบบ Work from Home ในช่วง Covid-19) ลักษณะการทำงานเช่นนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์การให้บริการผู้บริโภคผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

การทำงานแบบ Distributed enterprises นั้นตอบสนองความต้องการของทั้งตัวพนักงานและลูกค้าที่ต้องอยู่ห่างไกลกันให้สามารถจัดการการให้บริการผ่าน Virtual Service หรือบางแห่งอาจมีลักษณะการทำงานแบบผสมผสานทั้งในสำนักงานและนอกสำนักงาน ซึ่งจะช่วยพัฒนารูปแบบการให้บริการลูกค้าได้หลากหลายยิ่งขึ้น

Total Experience

Total Experience เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ ภายใต้ความต้องการที่อยากสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า หรือผู้ใช้งาน ผ่าน Touchpoint ที่หลากหลาย (Touchpoint คือจุดที่ลูกค้ามาพบกับสินค้า ทั้งการพบเจอผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านช่องทางออฟไลน์ จนกระทั่งตัดสินใจซื้อสินค้า) จุดมุ่งหมาย คือเพื่อสร้างความมั่นใจ ความพึงพอใจ จนก่อเกิดเป็นความภักดีต่อแบรนด์ไปในที่สุด

ซึ่งกลยุทธ์นี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งด้านการบริการผ่าน Human Service หรือ AI Service เช่น Chatbot รวมไปถึงการจัดทำหน้าแสดงสินค้าที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่น ๆ ที่ลูกค้าจะสามารถเห็นและตัดสินใจซื้อได้ การให้ข้อมูลที่ชัดเจนตรงไปตรงมา สามารถทำธุรกรรมการซื้อได้สะดวก เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างประสบการณ์การที่ดีให้แก่ลูกค้า และมีโอกาสสูงที่ลูกค้านั้นจะกลับมาซื้อซ้ำ

Autonomic Systems

ระบบอัตโนมัติ ถือกำเนิดมาจากความสามารถทางเทคโนโลยีอันคล่องตัว สามารถที่จะรองรับคำสั่งใหม่ ๆได้ทุกสถานการณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการแสดงผล และป้องกันการถูกโจมตีได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ เป็นระบบที่มีการจัดการภายในตัวเองหรือมีซอฟต์แวร์ที่สามารถเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแสดงผลภายใต้ระบบนิเวศน์แบบซับซ้อน

Generative AI

Generative AI คือการสร้างสิ่งประดิษฐ์จากข้อมูล และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่คล้ายกับรูปแบบของชิ้นงานดั้งเดิม แต่ไม่ใช่การทำซ้ำ Generative AI นั้นมีศักยภาพที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การสร้าง Content ผลิตวิดีโอ รวมไปถึงการวิจัยและเร่งรอบการผลิตยาในอุตสาหกรรมยา จะเห็นได้ว่า AI นั้นสามารถทำงานได้มากมาย หากย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนเราคงไม่คิดว่าระบบคอมพิวเตอร์นั้นจะสามารถสร้างสรรค์งานแบบเดียวกับที่มนุษย์สร้างออกมาได้ แต่ ณ ปัจจุบัน ทุกสิ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง AI สามารถทำงานที่มนุษย์ทำได้ และในบางงานก็อาจทำได้ดีกว่า

ปรับเพื่อเปลี่ยนสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว เราคงไม่อาจย้อนเวลากลับให้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ หยุดพัฒนา แต่ต้องหันมาเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาความรู้หรือทักษะ (Skill) ที่อยู่ในตัวมนุษย์ให้สามารถก้าวข้ามเทคโนโลยี หรือทำในสิ่งที่เทคโนโลยียังตอบสนองได้ไม่ดีพอ

ข้อมูลจาก Future of Jobs Report 2018, World Economic Forum เคยกล่าวไว้ถึงทักษะที่จะเติบโต และทักษะที่จะค่อย ๆ ถูกลดทอนลงในช่วงปี 2022 ซึ่งข้อมูลนี้ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยว่ามันยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ เพราะโลกยุคใหม่ที่เรากำลังทำความรู้จักไปพร้อมกันนั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะที่มากกว่าเดิม

ความคล่องแคล่ว ความอดทน และความแม่นยำที่เคยมีอยู่ในแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นทักษะดังเดิมนั้นอาจไม่เพียงพอสำหรับโลกยุคใหม่ที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เพราะมันสามารถถูกนวัตกรรมที่มีความแม่นยำและรวดเร็วยิ่งกว่าเข้ามาทดแทน ทักษะพื้นฐานด้านมิติสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น ความจำ การพูด การได้ยิน หรือแม้กระทั่งการคำนวณทางคณิตศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาแทนที่ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องผลักตัวเองให้อยู่เหนือเทคโนโลยี ทำในสิ่งที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้ หรือยังทำได้ไม่ดีพอ นั่นคือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบพื้นฐานเป็นการคิดเชิงวิพากษ์ที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอื่น ๆ ต่อไปได้ ปรับเปลี่ยนวิธีการมองให้เป็นภาพรวมและสามารถแก้ไขสิ่งที่ที่ซับซ้อนอย่างมีเหตุผลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง เราก็ไม่สามารถที่จะหยุดวิ่งได้เช่นกัน เพราะหากไม่ปรับเพื่อเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ ไม่แน่ว่าวันไหนสักวันเราก็อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สูญเสียโอกาสหลายสิ่งหลายอย่างในอนาคตได้ ดังนั้นการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หมั่นอัปเดตเทรนด์อยู่เสมอเป็นวิธีที่จะยังทำให้เราสามารถก้าวไปพร้อมๆ กับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้

ข้อมูลอ้างอิง :
Previous Post9 Certificate ที่สายซับฯ ควรมีไว้อัปเกรดเป็น Super IT Support
Next Postแนะนำเครื่องมือสร้าง Visual Content (2D 3D AR VR)