7 ทักษะจำเป็นของการเป็นพลเมืองดิจิทัล

ทุกวันนี้ความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทุกตำแหน่งงาน ทุกอุตสาหกรรมต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับการทำงาน เพื่อสร้างผลงาน หรือชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการพัฒนาทักษะเพื่อให้การใช้ชีวิตได้ก้าวทันกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคดิจิทัลและอยู่ล้อมรอบตัวเราในปัจจุบัน

ทำไมต้องรู้พื้นฐาน Digital Literacy

สิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามองไปยังเรื่องการทำการตลาด ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งสิ้น น้อยมากที่ธุรกิจจะมีเพียง Local Business เพียงอย่างเดียว ร้านค้าต่าง ๆ ต้องผลักตัวเองเข้าสู่ออนไลน์ เพื่อให้สามารถมีตัวตน หรือต่อให้เป็นร้านต้นตำรับที่เจ้าของร้านไม่สันทัดเรื่องการใช้เทคโนโลยีก็ตาม หากสินค้าหรือบริการมีคุณภาพดีจนเกิดการบอกเล่าปากต่อปาก ท้ายที่สุดแล้วการบอกเล่านั้นก็อาจจะถูกนำขึ้นสู่ออนไลน์ เป็นการพาธุรกิจนั้นเข้าไปอยู่บนโลกดิจิทัลทางอ้อม ด้วยการแนะนำรีวิวร้านตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งปลายทางของผลลัพธ์ก็คือการมีตัวตนบนโลกออนไลน์อยู่ดี

เมื่อมองไปยังภาคการเงินก็เป็นเรื่องดิจิทัลอีกเช่นกัน ทั้งระบบจ่ายเงินผ่าน QR Code การโอนชำระค่าสินค้า การทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร การยื่นภาษีเข้าระบบ ไปจนถึงเรื่องการลงทุนในเหรียญดิจิทัล Cryptocurrency

ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ก็ขยับขยายเข้าสู่ออนไลน์เช่นกัน ทั้งการเรียนในคลาสเรียน การทำแบบฝึกหัดระหว่างเรียน ไปจนถึงการสอบวัดผลความรู้ เรียกได้ว่าแทบจะทุกอุตสาหกรรมในตอนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของข้อมูล และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวพันอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ผลักดันให้หลายองค์กรต้องทำงานรูปแบบ Work from Home ก็เหมือนเป็นการต้องยกเครื่ององค์กรกลายๆ ว่าทั้งพนักงาน และผู้บริหารล้วนต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ดังนั้น การมีรากฐานที่แข็งแรงด้วยความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากจะต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของดิจิทัลแล้ว ยังต้องเรียนรู้วิธีการใช้ประโยชน์ และระมัดระวังโทษหรืออันตรายจากดิจิทัลด้วยเช่นกัน

การเพิกเฉยหรือมองข้ามความรู้ด้านนี้อาจทำให้เราเสียโอกาสหลาย ๆ อย่างและอาจสูญเสียโอกาสในการก้าวหน้าในอนาคต เพราะสิ่งแวดล้อมตอนนี้ได้เร่งเวลาให้สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ให้เกิดเร็วขึ้น มีบริษัทมากมายที่ค้นพบว่าการทำงานรูปแบบ Work from Home นั้นตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและพนักงานมากกว่า จนตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น WFH แบบถาวร บางบริษัทอยู่ระหว่างการผสมผสาน และบางบริษัทกำลังเริ่มต้นปรับเปลี่ยน

7 ทักษะจำเป็นที่ควรมีติดตัว

1. Technology Basics (ทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี)

เริ่มตั้งแต่การใช้งาน Web Browser เข้าใจคอนเซปต์การติดตั้งซอฟต์แวร์ การเชื่อมต่อ Network เบื้องต้น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การจัดการกับฮาร์ดแวร์ เช่น การตั้งค่าเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่เมื่อก่อนหากอยู่ในสำนักงานก็สามารถเรียกไอทีซัพพอร์ตมาช่วยดูให้ได้ แต่เมื่อต้องทำงานแบบ Work from Home หรือกรณีที่ไม่มีฝ่ายไอทีมาช่วยดูแล การรู้วิธีทำงานเบื้องต้นของระบบต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเองได้

2. Digital Citizenship (ทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัล)

หมายถึงเมื่อเราต้องใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี แน่นอนว่ามันมีทั้งประโยชน์ และข้อควรระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี เราควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นโยบายการใช้งานต่าง ๆ การให้ความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องระวังตัว เพื่อที่จะได้รับทราบว่าตัวเรานั้นกำลังถูกใครคุกคามหรือขโมยข้อมูลส่วนบุคคลอยู่หรือไม่ และในทางกลับกันเราเองกำลังทำสิ่งเดียวกันนั้นกับผู้อื่นอยู่หรือไม่

3. Information Management (ทักษะการจัดการสารสนเทศ)

คำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาไทยอาจมีความหมายไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่เราจะขยายความให้อีกนิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ต้องการ โดยเฉพาะเรื่องการค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลในไฟล์ ข้อมูลบนเว็บเพจ รวมไปถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อจำกัดต่าง ๆ การเข้าถึงและนำไปใช้ในแง่ของลิขสิทธิ์ ทั้งข้อมูลที่เป็น Public Domain และแบบ Creative Commons เพราะทุกผลงานไม่ว่าจะเป็นงานเขียน ศิลปะ เพลง ภาพถ่าย หรือข้อมูลใดก็ตามที่ได้รับการสร้างสรรค์รวบรวมขึ้นเป็นชิ้นงานใหม่ ทุกอย่างล้วนมีลิขสิทธิ์ในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องจดลิขสิทธิ์ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทราบว่าสิ่งใดนำมาใช้ได้ สิ่งใดนำมาใช้ไม่ได้ ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนหรือไม่

4. Content Creation (ทักษะการสร้างสรรค์เนื้อหา)

ในที่นี้เราหมายรวมถึงคอนเทนต์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร งานนำเสนอ งานด้านคำนวณกับการทำงานบนสเปรดชีต การจัดระเบียบเรียบเรียงเนื้อหา ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การนำเสนอเนื้อหาสื่อดิจิทัลทั้งแบบภาพนิ่ง และเคลื่อนไหว ซึ่งพลเมืองยุคดิจิทัลนั้นเรียกได้ว่ามีความรอบรู้ในทักษะหลากหลายแขนง สามารถรับมือกับเทคโนโลยีได้ทุกรูปแบบ และนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี การเข้าใจโครงสร้างหรือวิธีการทำงานเบื้องต้นนั้นจะช่วยให้สามารถต่อยอดพัฒนาความรู้ และประหยัดเวลาในการทำงานได้มากกว่ายุคที่ดิจิทัลยังไม่เฟื่องฟู

5. Communication (ทักษะด้านการสื่อสาร)

เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมในการสื่อสาร เพราะไม่ว่าจะสื่อสารเรื่องอะไรก็แล้วแต่ การเลือกช่องทาง และกลุ่มผู้รับสารที่เหมาะสมจะช่วยทำให้การสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ว่าวิธีการสื่อสารตอบโต้ในสื่อต่าง ๆ แบบไหนมีดี แบบไหนไม่ดี แบบไหนที่อาจมีผลกระทบตามมา รวมไปถึงการสื่อสารด้านการค้าขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็เริ่มหันมาจับธุรกิจและก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์กันแล้ว การมีทักษะการสื่อสารที่ดีจะช่วยส่งเสริมกิจการให้ดีได้ หรือในมิติของการเป็นผู้ซื้อ เราก็จำเป็นจะต้องมีความรู้เบื้องต้นด้านการชำระเงิน ข้อควรระวังความปลอดภัย ทำอย่างไรจะไม่ถูกโกง ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งสิ้น

6. Collaboration (ทักษะด้านการทำงานร่วมกัน)

บางคนอาจสงสัยว่าการทำงานร่วมกันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเป็นพลเมืองดิจิทัล แต่สิ่งที่เราจะพูดถึงนี้ไม่ใช่การทำงานร่วมกันในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่คือการแชร์ไฟล์เพื่อทำงานร่วมกันบนเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะบนระบบ Cloud ซึ่งเมื่อคลาวด์ช่วยให้เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังเช่นกันหากต้องทำงาน หรือใช้ไฟล์ร่วมกันกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ แน่นอนว่าเมื่อทำงานไปสักพักย่อมจะเกิดคำถามว่าใครปรับแก้ตรงไหน ใครใช้งานคนล่าสุด ถ้าทำงานพร้อมกันไฟล์งานจะทับกันจนข้อมูลหายไหม สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ วิธีการทำงานของระบบเพื่อที่จะได้สามารถใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงมารยาทในการทำงานร่วมกับผู้อื่นก็เป็นอีกเรื่องที่ควรใส่ใจ เช่น เมื่อมีการประชุมหรือสัมมนาออนไลน์ เราควรที่จะเป็นผู้รับฟังที่ดีเมื่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เป็นฝ่ายนำเสนอ ปิดไมค์ และสอบถามเมื่อถึงช่วงเวลา ไม่พูดแทรก ไม่ขัดจังหวะ และในขณะเดียวกันเมื่อเราต้องเป็นฝ่ายนำเสนอ ก็ควรจะฝึกใช้งานระบบต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อให้ไม่ติดขัดในการทำงานร่วมกัน ถึงจะเป็นทักษะเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ช่วยรักษาระดับความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

7. Safety and Security (ความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัย)

เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยทั้งในแง่ของอุปกรณ์ และความปลอดภัยของตัวบุคคล เพราะโลกดิจิทัลนั้นเชื่อมต่อถึงกันได้หมด ดังนั้นความเสี่ยงในการถูกลิดรอนความปลอดภัยจึงมีช่องโหว่มากขึ้น การจะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีนั้นควรรู้ว่าวิธีไหนที่สามารถรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลของตนเองได้ ตั้งแต่วิธีพื้นฐานอย่างการตั้งค่ารหัสผ่านเพื่อป้องกันผู้ไม่เกี่ยวข้อง การปกป้องข้อมูลจากไวรัส หรือสิ่งอื่นที่จะมาเจาะข้อมูลของเรา นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่เราจะต้องปกป้องคือ การปกป้องสุขภาพและจิตใจที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับผลกระทบจากโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดอุปกรณ์ดิจิทัล ความทรุดโทรมของร่างกายเมื่อต้องใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลในระยะยาว (ออฟฟิศซินโดรม) ผลกระทบจากการโพสต์สื่อเชิงลบหรือไม่เหมาะสม การถูกรังแกบนโลกออนไลน์ การถูกคุกคามทางออนไลน์

จะรู้ได้ยังไงว่าเรามีทักษะดิจิทัล อยู่ในระดับไหน

7 ทักษะจำเป็นที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่ได้มีใครตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้โดยตรง แต่เป็นสิ่งที่เราแนะนำว่าถ้าหากมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวไว้ ก็จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตดิจิทัลได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

แต่หากใครอยากจะรู้ว่าตัวเองมีทักษะ 7 ข้อเหล่านี้อยู่หรือไม่ ก็สามารถใช้วิธีวัดผลด้วยการทดสอบความรู้ความเข้าใจผ่านข้อสอบมาตรฐานสากลที่มีชื่อว่า IC3 Digital Literacy Certification ใบรับรองสำหรับการันตีความเป็นพลเมืองดิจิทัลมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกนำไปใช้

IC3 Digital Literacy คืออะไร

คือ เครื่องมือวัดทักษะที่สามารถนำมาใช้รับรองความรู้ ความสามารถ ในการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน ประกอบด้วย ด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ด้านโปรแกรมสำนักงานสำเร็จรูป และด้านเครือข่าย กับอินเทอร์เน็ตพื้นฐาน ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็น และเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน นอกจากนี้ประกาศนียบัตร IC3 ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งในประเทศไทย อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) TPQI และมาตรฐานระดับโลก (อ่านเพิ่มเติม : การรับรองมาตรฐาน IC3 Digital Literacy Certification)

ซึ่งปัจจุบันประกาศนียบัตร IC3 Digital Literacy พัฒนามาจนถึงเวอร์ชัน Global Standard 6 (GS6) เพื่อตอบโจทย์การวัดมาตรฐานความรู้ที่พลเมืองดิจิทัลควรมีทั้ง 7 ด้าน

ใครบ้างที่ควรทดสอบ

อาจกล่าวได้ว่าความจริงแล้วการทดสอบ IC3 นั้นเหมาะสมกับคนทุกวัย เพราะเนื้อหาการทดสอบครอบคลุมเรื่องที่เราทุกคนควรรู้ไว้เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในแบบดิจิทัลได้อย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน แต่หากจะเจาะลึกความสำคัญให้เฉพาะเจาะจง เราแนะนำว่าการทดสอบนี้ควรใช้วัดความรู้สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ และบุคคลที่เริ่มต้นเข้าสู่การทำงาน (ไม่ว่าสายอาชีพใดก็ตาม) บุคลากรที่ทำงานในสำนักงานทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ตัวอย่างเช่น ข้าราชการโครงการ HIPPS ที่สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดให้มีการสอบวัดทักษะความรู้ด้านพื้นฐานการใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วย IC3 Digital Literacy (เวอร์ชัน GS5) เพื่อยกระดับความสามารถของข้าราชการไทยให้ก้าวทันเทคโนโลยี และสามารถปฏิบัติงานโดยใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ข้อมูลอ้างอิง :
Previous Postทำความรู้จัก Cert. ใหม่แห่งวงการไอที (ITS : IT Specialist)
Next Post7 คอร์สแนะนำที่ให้คุณทำได้มากกว่าแค่รับ-ส่งอีเมล